จรรยาบรรณธุรกิจ

ความมุ่งมั่น


การสนับสนุนการปฏิบัติตามจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจในระดับสูงสุด ด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของพนักงาน และนำระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผลมาใช้ เพื่อให้เป็นที่่ไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสีย

ความสำคัญ


ธนาคารให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อรักษาชื่อเสียงและภาพพจน์ของธนาคาร ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ธนาคารส่งเสริมให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ จรรยาบรรณธุรกิจ จรรยาบรรณพนักงาน กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้และมุ่งเน้นการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผล โดยกำหนดให้หน่วยงาน Three Lines of Defense ได้แก่ หน่วยงานบริหารความเสี่ยง หน่วยงานกำกับดูแล และสายตรวจสอบและควบคุม ซึ่งทำงานโดยอิสระจากหน่วยงานด้านธุรกิจของธนาคาร ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารความเสียง และการตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการ ตลอดจนนโยบายและระเบียบปฏิบัติของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารยังจัดให้มีช่องทางรับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามนโยบาย กฎระเบียบ จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจของธนาคาร ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชันและการทำผิดกฎหมาย และมีกระบวนการจัดการที่ชัดเจน โปร่งใสและเป็นธรรม
การบริหารจัดการ

จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ

ด้วยเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจภายใต้จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจเป็นรากฐานสำคัญขององค์กรที่ยั่งยืน ธนาคารจึงส่งเสริมให้พนักงานมีความตระหนักรู้และปฏิบัติตามจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจของธนาคาร ผู้บริหารและพนักงานของธนาคารทุกคนได้ลงนามรับทราบและมีพันธะผูกพันให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ รวมถึงระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของธนาคารตามที่ระบุไว้บนสัญญาจ้าง และยังได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรภาคบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจเพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนบริษัทในเครือที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารให้นำจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบริษัท

จรรยาบรรณพนักงาน

ธนาคารส่งเสริมให้พนักงานทุกคน รวมถึงกรรมการและผู้บริหารของธนาคารปฏิบัติตามจรรยาบรรณพนักงานของธนาคารอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของจรรยาบรรณพนักงานผ่านการแนะนำและชี้แจงจรรยาบรรณพนักงานในวันปฐมนิเทศของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน รวมทั้งมีการจัดทำคู่มือพนักงานและการสื่อความภายในองค์กรเป็นระยะ การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม

การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม 

ด้วยตระหนักว่าการได้รับบริการอย่างเป็นธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกค้า และเป็นปัจจัยดึงดูดให้ลูกค้าเลือกใช้บริการจากธนาคาร ธนาคารจึงกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ดังนี้

  1. วัฒนธรรมองค์กรและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง
    คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารมีหน้าที่ผลักดันให้การให้บริการอย่างเป็นธรรมกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร
  2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่องทางการให้บริการและการจัดกลุ่มลูกค้า
    การพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการให้บริการที่เหมาะสมกับความต้องการ ความสามารถทางการเงินและความสามารถในการทำความเข้าใจของลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่ม รวมทั้งมีความเหมาะสมกับความสามารถในการขายและความเข้าใจของพนักงาน ระบบงาน ตลอดจนความสามารถในการควบคุมดูแลคุณภาพการขายให้เป็นธรรมกับลูกค้า ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ ราคาและค่าธรรมเนียม ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม ต้นทุนที่แท้จริง ไม่ร่วมกับผู้ให้บริการอื่นในการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์ และไม่บังคับขายพ่วงผลิตภัณฑ์หนึ่งกับอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง เว้นแต่ผลิตภัณฑ์ที่ขายพ่วงนั้นมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์หลัก
  3. การจ่ายค่าตอบแทน
    การกำหนดค่าตอบแทนและมาตรการลงโทษสำหรับพนักงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแล รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสนอขายหรือให้คำแนะนำที่ขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า
  4. กระบวนการขาย
    การเสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการแก่ลูกค้าโดยไม่รบกวนความเป็นส่วนตัว มีการให้ข้อมูลสำคัญอย่างครบถ้วน ไม่เกินจริงและไม่บิดเบือน ตลอนจนมีระบบและกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการขายและบริการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การโทรศัพท์เพื่อตรวจสอบคุณภาพการให้บริการและการสุ่มตรวจสอบโดยลูกค้าจำลองซึ่งไม่เปิดเผยตัวตน นอกจากนี้ การเสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการแก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบางต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความเหมาะสมกับลูกค้า และการทำความรู้จักลูกค้าเพื่อให้ทราบความประสงค์ ความสามารถทางการเงินและความสามารถในการทำความเข้าใจของผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้า เพื่อนำไปสู่การให้ข้อมูลและคำเตือนที่เพียงพอ
  5. การสื่อสารและการให้ความรู้แก่พนักงาน
    ธนาคารสื่อสารและจัดอบรมเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมให้แก่พนักงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาสำคัญครอบคลุมรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ วิธีการขายโดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย สิทธิของลูกค้าและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม
  6. การดูแลคุ้มครองข้อมูลของลูกค้า
    ธนาคารดูแลคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และได้ออกแบบพัฒนาและทดสอบระบบงานให้มีความมั่นคงปลอดภัย
  7. การแก้ไขปัญหาและจัดการเรื่องร้องเรียน
    ธนาคารจัดให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาจัดการเรื่องร้องเรียนและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ชัดเจน รวดเร็วและยุติธรรม
  8. การควบคุม กำกับและตรวจสอบ
    ธนาคารจัดให้มีกระบวนการควบคุม กำกับ และตรวจสอบการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งมีการตรวจจับความเสี่ยงและความผิดปกติ และมีระบบการติดตามตรวจสอบภายหลังการขายหรือให้บริการ
  9. การปฏิบัติงานและแผนรองรับการปฏิบัติงาน
    ธนาคารมีระบบปฏิบัติงานและแผนรองรับการปฏิบัติงานทั้งในสถานการณ์ปกติและฉุกเฉิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความประสงค์ของลูกค้าจะได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทันเวลา ธนาคารได้จัดทำคู่มือและรายการตรวจสอบการปฏิบัติงาน และจัดอบรมการปฏิบัติตามคู่มือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในการปฏิบัติงาน

ธนาคารให้ความสำคัญกับการให้บริการอย่างเป็นธรรมแก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุุ (60 ปีขึ้นไป) กลุ่มผู้มีความรู้ทางการเงินอย่างจำกัดหรือไม่มีประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ กลุ่มผู้มีข้อจำกัดในการสื่อสารหรือการตัดสินใจ ซึ่งรวมถึงผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือมองเห็นและผู้มีภาวะบกพร่องทางสุขภาพ ธนาคารได้กำหนดแนวปฏิบัติในการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับลูกค้า ต้องพิจารณาถึงความประสงค์ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ความสามารถทางการเงิน และความสามารถในการทำความเข้าใจของลูกค้าเป็นสำคัญ การอธิบายรายละเอียดเงื่อนไข สิทธิและข้อยกเว้นต้องชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย โดยเน้นข้อความหรือขีดเส้นใต้ข้อความที่สำคัญ พนักงานต้องพูดช้า ชัดเจน เสียงดัง ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นย้ำจุดที่สำคัญ และหากลูกค้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติม ให้พนักงานอธิบายหรือให้คำแนะนำแก่ลูกค้าจนมั่นใจว่าลูกค้าปราศจากข้อสงสัย พนักงานต้องให้เวลาแก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบางในการทำความเข้าใจและไม่เร่งรัดให้ตัดสินใจ เป็นต้น


การติดตามทวงถามหนี้และเรียกเก็บหนี้บุคคลธรรมดา

ธนาคารกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ขั้นตอนการดำเนินการ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้สำหรับบุคคลธรรมดา อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ แนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงระเบียบและวิธีการในการติดตามทวงถามหนี้ การแสดงตนและการให้ข้อมูลเพื่อการทวงถามหนี้ สถานที่หรือบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้เพื่อการติดต่อทวงถามหนี้ วัน เวลา และจำนวนครั้งในการติดต่อทวงถามหนี้ อัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ (ถ้ามี) สิทธิและช่องทางการร้องเรียนของลูกหนี้ และมาตรการลงโทษผู้ทวงถามหนี้หรือคู่สัญญาที่ธนาคารว่าจ้างหากไม่ปฏิบัติตามนโยบายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารดำเนินการติดตามทวงถามหนี้อย่างเหมาะสม สุจริต และไม่กระทำการใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมอันดี

รายชื่อบริษัทภายนอกที่ได้รับจ้างจากธนาคารให้เป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้บุคคลธรรมดาแทน*

  1. บริษัท ชลินท์ธรและที่ปรึกษา จำกัด  (Chalinthon and counsellor Co.,Ltd.)
  2. บริษัท สำนักกฎหมายประชาชน จำกัด  (Prachachon Law Office Co.,Ltd.)
  3. บริษัท กฎหมายธรรมศิริรัฐ จำกัด  (Dharmsirirat Law Co.,Ltd.)
  4. บริษัท นิสิต แอนด์ พาร์ทเนอร์ จำกัด  (Nisit and Partners Co.,Ltd.)
  5. บริษัท ลีดเดอร์กรุ๊ป จำกัด  (Leader Group  Co.,Ltd.)
  6. บริษัท ลอว์เยอร์ สมาร์ท กรู๊ป จำกัด   (Lawyer Smart Group Company Limited)
  7. บริษัท แม็คซ์กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (Max Group corporation Company Limited)
  8. บริษัท นิติรัฐ ลอว์ แอนด์ คอลเลคชั่น จำกัด  (Nitirat Law and collection Co.,Ltd)
  9. ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.เอส.ซี ลอว์  (S.S.C.Law Office)

หมายเหตุ: บริษัทภายนอกที่ธนาคารว่าจ้างเป็นเพียงผู้ดำเนินการติดต่อเพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลเพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น หลักการว่าจ้างเป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก (Outsourcing) ในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงรายชื่อบริษัทภายนอกโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

การต่อต้านและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

ธนาคารกำหนดนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม รวมถึงการจัดการความเสี่ยงและช่องทางในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนธนาคารส่งเสริมให้พนักงาน ผู้บริหาร และกรรมการ ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวให้เป็นปกติวิสัยจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรและมีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ธนาคารยังจัดทำคู่มือการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันขึ้น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของพนักงาน และจัดให้มีการอบรมและสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันให้แก่พนักงานทุกระดับ หากพบว่ามีพนักงานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว ธนาคารจะดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการทางวินัยของธนาคารและกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจาไปจนถึงการเลิกจ้างหรือการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ธนาคารได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกในฐานะสถาบันการเงินที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยมาตั้งแต่ปี 2558 (ได้รับการต่ออายุการรับรองการเป็นสมาชิกในปี 2564)

 


การจัดการความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน

เพื่อป้องกันและควบคุมความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน ธนาคารมีการจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลและเหมาะสมกับบริบทของธุรกิจ ตามขั้นตอนดังนี้

  1. การระบุประเด็นความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันที่ธนาคารอาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการดำเนินงานหรือกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร
  2. การประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันและความรุนแรงของผลกระทบ
  3. การกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันที่เฉพาะเจาะจงกับประเด็นความเสี่ยง และเหมาะสมสถานการณ์กับบริบททางธุรกิจของหน่วยงาน (ผู้บริหารหน่วยงานหรือหัวหน้างานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละประเด็นความเสี่ยงจะเป็นผู้ดำเนินการ 3 ขั้นตอนแรกนี้ เป็นประจำทุกปี) ผลการประเมินและข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และอ้างอิงต่อไป

การติดตาม ดูแล และตรวจสอบภายใต้หลักการป้องกัน 3 ชั้น โดยในชั้นแรก ผู้รับผิดชอบหน่วยงานธุรกิจและเจ้าหน้าที่กำกับดูแลประจำหน่วยงานทำหน้าที่จัดการความเสี่ยงในหน่วยงานของตน ในชั้นที่สอง หน่วยงานบริหารความเสี่ยงและหน่วยงานกำกับดูแลทำหน้าที่ดูแลและติดตามการจัดการความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน และในชั้นสุดท้ายหน่วยงานตรวจสอบและควบคุมทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานอย่างเป็นอิสระและรายงานต่อผู้รับผิดชอบตามสายการบังคับบัญชา

ในปี 2565 ธนาคารไม่มีกรณีกล่าวโทษหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและการติดสินบนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้ หรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้มีบทบาททางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม

ค่าตอบแทนและการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกับจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ

เพื่อยกระดับให้การกำกับดูแลของธนาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารกำหนดให้การปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับของธนาคาร และการปฏิบัติตามจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ และในการพิจารณาจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงาน ธนาคารกำหนดคุณสมบัติให้พนักงานต้องไม่เป็นผู้ได้รับโทษทางวินัยถึงขั้นปลดออก หรือเป็นผู้กระทำความผิดฐานทุจริต ในกรณีที่พนักงานอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนความผิดที่เข้าข่ายทุจริต จะถูกระงับการจ่ายโบนัสไว้ชั่วคราวจนกว่าผลการพิจารณาความผิดจะแล้วเสร็จ หากผลการสอบสวนปรากฏว่าพนักงานมิได้กระทำความผิด พนักงานดังกล่าวก็จะมีสิทธิได้รับโบนัส

การดำเนินงานที่สำคัญ

การอบรมให้ความรู้

ธนาคารจัดอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม ธรรมาภิบาล และจรรยาบรรณธุรกิจให้แก่ผู้บริหารและพนักงานบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของธนาคาร (BBLearn) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ รวมถึงมีการประเมินความรู้หลังการเรียนรู้หลักสูตรที่สำคัญมีดังนี้




การจัดการเบาะแสหรือข้อร้องเรียน


ธนาคารจัดให้มีช่องทางที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำของธนาคารรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างของธนาคาร ที่สงสัยว่าเป็นการทุจริต การทำผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานทางการ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ นโยบาย และระเบียบการปฏิบัติงานของธนาคาร การรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนการควบคุมภายในที่บกพร่อง อันอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการของธนาคารหรือธนาคารเอง

หัวข้อ

กรณีการละเมิดในปี 2565

การคอร์รัปชันและการติดสินบน

0

การเลือกปฏิบัติ หรือ การคุกคาม

1*

การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า

0

การขัดแย้งทางผลประโยชน์

0

การฟอกเงิน หรือ การใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์

0

หมายเหตุ: *เป็นกรณีการละเมิดที่ได้รับการตรวจสอบและพิสูจน์ยืนยันแล้วว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง 

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ