การพัฒนาชุมชนและสังคม

ความมุ่งมั่น


การสร้างความสัมพันธ์และคุณค่าร่วมกับชุมชน โดยการสนับสนุนชุมชนให้สามารถจัดการกับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งส่งเสริมการบรรเทาและรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ความสำคัญ


การดูแลสังคมเหมือนดังเช่น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” คือสิ่งที่ธนาคารยึดถือมาตลอด 78 ปี ด้วยเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสนับสนุนสังคมให้เข้มแข็งนั้นจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความไว้วางใจที่สังคมมีต่อธนาคาร ธนาคารมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาสังคมผ่านการทำกิจกรรมหลากหลาย ทั้งที่เป็นการดำเนินงานของธนาคารเองและการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม การสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ การส่งเสริมความรู้ด้านการผลิตสินค้าและบริการ การจ้างงานสร้างรายได้ การพัฒนาศักยภาพและแก้ไขปัญหาชุมชน ตลอดจนการทำนุบำรุงศาสนาและสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์ ในปี 2565 นี้ ธนาคารยังคงเน้นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ การเข้าสู่สังคมอายุยืน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยความมุ่งหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
การบริหารจัดการ

ธนาคารได้กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้เป็นทิศทาง หลักการ และกรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนและสังคมของธนาคาร พร้อมทั้งสนับสนุนให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารนำนโยบายดังกล่าวไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบริษัท ธนาคารส่งเสริมให้พนักงานมีความตระหนักรู้ เข้าใจ และเชื่อมั่นในคุณค่าและความสำคัญของการพัฒนาชุมชนและสังคม เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมอย่างเพียงพอและเหมาะสม ธนาคารยังสนับสนุนให้พนักงานรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น กลุ่มบัวหลวงบำเพ็ญประโยชน์ ที่สั่งสมความดีส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ธนาคารมอบหมายให้ฝ่ายการประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการวางแผนเกี่ยวกับกิจกรรมพัฒนาสังคม รวมถึงทรัพยากรและงบประมาณที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่หน่วยงานอื่นของธนาคารก็สามารถริเริ่มและดำเนินกิจกรรมพัฒนาสังคมที่เกี่ยวข้องกับงานของหน่วยงานนั้นตามความเหมาะสมได้เช่นกัน โดยหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในกิจกรรมนั้นๆ จะเป็นผู้ดูแลและติดตามการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ธนาคารยังส่งเสริมให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนและสังคม และเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ ของธนาคาร

ธนาคารกำหนดกลยุทธ์การดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคม โดยพิจารณาปัจจัยสำคัญ เช่น ความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ สถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบัน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ความสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและความเชี่ยวชาญของธนาคาร เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ธนาคารสนับสนุนนั้นมีประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนมีประโยชน์ต่อธนาคารและพนักงานที่เข้าร่วม ธนาคารสื่อสารให้พนักงานทราบถึงกิจกรรมต่าง ๆ เป็นประจำและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพนักงานตามความถนัดและความสนใจ กิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคมของธนาคาร แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

  1. การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม
  2. การสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มเปราะบางและการพัฒนาทางการแพทย์
  3. การพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา
  4. การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี
  5. การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
  6. การทำนุบำรุงศาสนา
การดำเนินงานที่สำคัญ

การดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม


ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ธนาคารกำหนดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและความท้าทายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและหน่วยงานพันธมิตร กลยุทธ์ทางธุรกิจ ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และภาพลักษณ์ของธนาคาร เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมที่ธนาคารสนับสนุนนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อสังคม ต่อธนาคารเอง และต่อพนักงานที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ธนาคารมีการสื่อสารและสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมตามความถนัดและความสนใจ เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมและค้นหาแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดต่อไป กิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของธนาคารแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม การสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มเปราะบางและการพัฒนาทางการแพทย์ การพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และการทำนุบำรุงศาสนา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม



  • การสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์และโครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง

    ธนาคารสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสานต่อพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำคืนความอุดมสมบูรณ์ของการมีน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ตลอดจนบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ด้วย “น้ำคือชีวิต” ธนาคารจึงร่วมกับมูลนิธิบัวหลวงและมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ดำเนินโครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ด้วยตนเองให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำสะอาดทีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร และยังสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ชุมชนอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกันนำไปปรับใช้ได้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้เสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ผ่านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างและปรับปรุงฝาย สระ อ่างเก็บน้ำ และระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่ 61 ชุมชน ใน 38 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม 35,341 ไร่ มีผู้ได้รับประโยชน์ 21,651 ครัวเรือน หรือ 66,688 คน และมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นรวม 274,607 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ธนาคารยังร่วมจัดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เพื่อร่วมสรุปแนวทาง “โครงสร้างพื้นฐานสังคมและเศรษฐกิจใหม่บนหลักของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่” พร้อมเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จของการมีส่วนร่วมโดยชุมชน ณ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปแนวทางการทำงานและพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการขยายผลความสำเร็จของ การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริต่อไป

  • หนังสือท้องถิ่นอินเตอร์

    ธนาคารต่อยอดองค์ความรู้ชุมชนจากรายการ “คาราวานสำราญใจ เที่ยวไปในชุมชน” สู่หนังสือ “ท้องถิ่นอินเตอร์” ซึ่งชูเสน่ห์และอัตลักษณ์ของวิสาหกิจชุมชนที่มีไอเดียดีสินค้าเด็ดผ่านการถ่ายทอดความสำเร็จของ “แบรนด์ชุมชน” จากกว่า 200 ชุมชนทั่วประเทศที่เติบโตจากการบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายมิติ ทั้งแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน สามารถสแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลด e-Book หนังสือ “ท้องถิ่นอินเตอร์” ได้ฟรี หนังสือดังกล่าวช่วยส่งเสริมกิจการของวิสาหกิจชุมชนให้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและยกระดับไปสู่ระดับประเทศและภูมิภาคต่อไป


การสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มเปราะบางและการพัฒนาทางการแพทย์



  • หน่วยแพทย์และทันตกรรมเคลื่อนที่

    ธนาคารร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนมูลนิธิหน่วยแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่ในการจัดบริการทางการแพทย์และทันตกรรมให้แก่ประชาชนด้อยโอกาสในชนบทและถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่ารักษาหรือค่าบริการใด ๆ บริการเคลื่อนที่ดังกล่าวประกอบด้วยการตรวจรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางบางโรค การอุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟันและใส่ฟันปลอม ในปี 2565 มีการออกหน่วยเคลื่อนที่รวม 3 ครั้งในจังหวัดอุทัยธานี เพชรบุรี และสุราษฎร์ธานี มีประชาชนเข้ารับบริการรวม 2,134 คน มีผู้บริหารและพนักงานธนาคารร่วมเป็นจิตอาสา 45 คน นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มอบถุงกระดาษรีไซเคิลจากปฏิทินเก่าและกระดาษใช้แล้วของพนักงานธนาคารภายใต้ โครงการ “ชุบชีวิตกระดาษใช้แล้ว” จำนวน 5,000 ถุง สำหรับให้หน่วยแพทย์และผู้ป่วยนำไปใช้ใส่ยาและสิ่งของอื่น ๆ

  • โครงการ BBL x Blood Hero x Plus 1 เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต

    ธนาคารสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 27 โดยการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตจากพนักงานและผู้บริหารของธนาคาร ทุก 3 เดือน และสมทบทุนกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ และเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนโลหิตสำหรับรักษาผู้ป่วย ธนาคารจึงได้จัดกิจกรรมการรับบริจาคโลหิต จำนวน 4 ครั้ง ณ อาคารสำนักงานใหญ่และอาคารพระราม 3 รวมทั้งได้เชิญชวนให้พนักงานร่วมบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตทั่วประเทศภายใต้โครงการ BBL x BLOOD HERO x Plus1 เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต โดยตลอดปี 2565 พนักงานและผู้บริหารทั้งสิ้น 1,205 คน ได้ร่วมกันบริจาคโลหิต 1,004 ยูนิต หรือ 462,400 ซีซี ซึ่งสามารถนำไปช่วยผู้ป่วยได้ประมาณ 3,500 คน


การพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา



ธนาคารให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชน เพราะเชื่อมั่นว่าการได้รับการศึกษาที่ดีนั้นจะนำมาซึ่งโอกาสที่ดีกว่าในชีวิตและช่วยให้เติบโตเป็น “พลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ” ของประเทศชาติได้

  • โครงการโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี

    ในปี 2565 ธนาคารสานต่อเจตนารมณ์การเป็น “เพื่อนคู่คิดทางการศึกษา” โดยการให้ผู้จัดการสาขา 104 คน จาก 103 สาขาใน 56 จังหวัด ทำหน้าที่เป็น School Partner ดูแลโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี จำนวน 240 โรง ใน 54 จังหวัด ธนาคารสนับสนุนให้ School Partner เติมเต็มทักษะและรับมุมมองการทำงานใหม่ ๆ ผ่านการอบรมออนไลน์ รวมทั้งนำความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์การทำงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปใช้ทำงานเชื่อมโยงกับโรงเรียนและชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับวิถีการเรียนรู้ใหม่และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธนาคารกับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในพื้นที่

  • โครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เห็นข้อจำกัดทางการศึกษาในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยี ธนาคารได้ผสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ดำเนินโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษาบนแพลตฟอร์มการระดมทุนออนไลน์ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ธนาคารได้เชิญชวนให้ทุกภาคส่วน รวมถึงผู้บริหารและพนักงานธนาคารร่วมบริจาคสมทบทุนจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและได้สนับสนุนผู้สอนให้เข้าอบรมหลักสูตรการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเป็นฐานการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้สามารถกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม

การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี



  • โครงการเกษตรก้าวหน้า

    ธนาคารได้เริ่มให้สินเชื่อเกษตรแก่เกษตรกรตั้งแต่ปี 2506 และเริ่มโครงการเกษตรก้าวหน้าตั้งแต่ปี 2542 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและยกระดับรายได้เกษตรกร จากอดีตจนถึงปัจจุบันโครงการเกษตรก้าวหน้ามีภารกิจหลากหลาย ตั้งแต่การสนับสนุนความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าของเกษตรกร การสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรเพื่อแบ่งปันความรู้และสร้างโอกาสทางการตลาดร่วมกัน ตลอดจนการสนับสนุนด้านการตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น งานสัมมนา การเสวนา การศึกษาดูงาน เพื่อค้นหาเกษตรกรก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จและการจัดงานวันเกษตรก้าวหน้า ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ สีลม เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรโดยเฉพาะรายเล็กได้นำสินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง พร้อมเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับฟังคำแนะนำหรือติชมจากผู้บริโภคโดยตรง

    ในปี 2565 ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ธนาคารจึงกลับมาจัดงาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2565” อีกครั้ง ด้วยแนวคิด “ทางเลือกใหม่ ปลอดภัย ยั่งยืน” ภายในงานมีเกษตรกรจากทั่วประเทศร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้า 42 ราย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน สร้างรายได้จากยอดขายสินค้าทางการเกษตรภายในงานกว่า 2.5 ล้านบาท และธนาคารได้จัดกิจกรรมเสวนา เพื่อนคู่คิดเกษตรก้าวหน้า 2 ครั้ง โดยเชิญวิทยากรผู้เชื่ยวชาญและเกษตรกรผู้มากประสบการณ์มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “อนาคตการเลี้ยงสุกรของไทยหลังวิกฤตการณ์ ASF” และ “แนวทางสู่ความสำเร็จด้านเกษตรส่งออกของเวียดนาม” โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 340 คน



  • ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี

    ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอีมจัดตั้งขึ้นในปี 2546 เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเอสเอ็มอีนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดธุรกิจ ธนาคารได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดอบรมสัมมนา การศึกษาดูงาน การจับคู่ทางธุรกิจ และการสนับสนุนพื้นที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ สีลม ให้สมาชิกชมรมนำสินค้ามาจำหน่ายในงานบัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ประจำปี โดยหลังจากที่ไม่ได้จัดงานบัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ ในช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 ธนาคาร ได้กลับมาจัดงานอีกครั้งในปี 2565 เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างรายได้ให้แก่เอสเอ็มอี รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าคุณภาพในราคาพิเศษจากผู้ผลิตโดยตรง

การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย


ธนาคารก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพขึ้นเมื่อปี 2522 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น การแสดงดนตรีไทยนาฏศิลป์และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพได้จัดกิจกรรมหลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมสังคีตสราญรมย์ และโครงการสร้างสรรค์วรรณศิลป์ “กวีปากกาทอง” ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศูนย์สังคีตศิลป์ธนาคารกรุงเทพ จำเป็นต้องงดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ลงชั่วคราว แต่ได้เผยแพร่ศิลปะการแสดงอันทรงคุณค่าผ่านช่องทาง Facebook และ YouTube ในชื่อ “ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ” นอกจากนี้ ธนาคารยังให้การสนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในการจัดนิทรรศการ “เพียรสาน...งานศิลป์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการดังกล่าวได้นำงานจักสานแขนงต่าง ๆ อันเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวไทยมาเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก

การทำนุบำรุงศาสนา



  • กิจกรรมทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน

    ธนาคารเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้รับสนองพระมหากรุุณาธิคุณให้น้อมอัญเชิญผ้าพระกฐิน พระราชทาน ไปทอดถวายยังพระอารามหลวงทั่วประเทศ รวมถึงวัดไทยในต่างประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 56 ในปี 2565 ธนาคารได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ไปทอดถวาย ณ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) พระอารามหลวง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารและพนักงานธนาคาร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและ ภาคเอกชน ลูกค้าและประชาชนในจังหวัดสมุทรสงครามให้เกียรติเข้าร่วมในพิธีผู้มีจิตกุศลได้ร่วมกันทำบุญกฐินพระราชทานประจำปีเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 15,185,395.60 บาท ธนาคารได้รวบรวมเงินทำบุญ ดังกล่าวเพื่อตั้งเป็นกองบุญตั้งต้นสำหรับการสร้างอุโบสถหลังใหม่ถวายหลวงพ่อบ้านแหลมต่อไป

  • พิธีฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยค

    การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของธนาคาร ธนาคารได้จัดพิธีฉลองมุทิตาสักการะแก่พระภิกษุ สามเณรผู้สำเร็จปริญญาบัณฑิต ระดับเปรียญธรรม 9 ประโยคต่อเนื่องมาหลายสิบปี ในปี 2565 ถือเป็นวาระพิเศษที่ธนาคารจัดพิธีฉลองมุทิตาสักการะสำหรับผู้สำเร็จปริญญาฯ พร้อมกัน 2 รุ่น ประกอบด้วย ปี 2564 จำนวน 64 รูป (ชดเชยที่ไม่ได้จัดในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19) และปี 2565 จำนวน 52 รูป รวมทั้งสิ้น 116 รูป เป็นพระภิกษุ 93 รูป และสามเณร 23 รูป โดยมีพระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองบาลีสนามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และคุณเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ