การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ความมุ่งมั่น


การสร้างแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG อย่างเหมาะสม การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการร่วมมือและสนับสนุนให้คู่ค้ายกระดับการดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญ


ธนาคารมุ่งมั่นดูแลและป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดจากการดำเนินงานของธนาคารเองและของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยการบริหารจัดการความเสี่ยงภายในห่วงโซ่อุปทานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาพลักษณ์และชื่อเสียงของธนาคาร ธนาคารได้กำหนดและสื่อสารจรรยาบรรณของคู่ค้า เพื่อแสดงความคาดหวังที่ธนาคารมีต่อคู่ค้าในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) พร้อมทั้งสนับสนุนให้คู่ค้าทุกรายดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบตามจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ในห่วงโซ่อุปทานที่เหมาะสมกับบริบททางธุรกิจของธนาคาร ตลอดจนส่งเสริมการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการจัดกิจกรรมความรู้ด้านความยั่งยืนให้แก่คู่ค้าของธนาคาร เพื่อร่วมกันสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และมีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน
การบริหารจัดการ
ธนาคารกำหนดแนวทางการบริหารจัดการด้าน ESG ในห่วงโซ่อุปทานของธนาคาร เริ่มจากการคัดกรองคู่ค้าเพื่อขึ้นทะเบียนโดยมีการพิจารณาประเด็นด้าน ESG การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจของธนาคารเป็นประจำ และจัดการให้ความเสี่ยงของคู่ค้าอยู่ในระดับที่ธนาคารยอมรับได้ ตลอดจนการสื่อสารจรรยาบรรณคู่ค้าให้คู่ค้าทุกรายรับทราบ โดยธนาคารได้ขอความร่วมมือให้คู่ค้าทุกรายลงนามรับทราบจรรยาบรรณคู่ค้า นอกจากนี้ ธนาคารมุ่งหวังให้คู่ค้าทุกรายปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าอย่างจริงจัง ซึ่งครอบคลุมการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และสิทธิชุมชน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของตัวคู่ค้าเอง ธนาคารและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ธนาคารมีกระบวนการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าและพร้อมสนับสนุนให้คู่ค้าทุกรายสามารถปฏิบัติตามจรรยาบรรณได้อย่างครบถ้วน


ธนาคารกำหนดนโยบายการใช้บริการจากบุคคลภายนอกด้านงานทั่วไป ซึ่งครอบคลุมระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ให้บริการ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การรักษาความปลอดภัยและความลับของข้อมูลของธนาคารและลูกค้าธนาคาร ตลอดจนการใช้แรงงาน นโยบายดังกล่าวได้รับการทบทวนเป็นประจำทุกปี ธนาคารมอบหมายให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้บริการจากบุคคลภายนอก ทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้บริการจากบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว หน่วยงานที่่ใช้บริการจากบุคคลภายนอกมีหน้าที่่นำเสนองานที่ต้องการใช้บริการและผู้ให้บริการที่มีความเหมาะสมต่อคณะกรรมการฯ ดูแลให้ผู้ให้บริการภายนอกปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ตลอดจนติดตามและประเมินผลการให้บริการ หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ดูแลการใช้บริการจากบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามระเบียบของธนาคาร ตลอดจนกฎหมายและข้อบังคับท่เกี่ยวข้องของทางการ หน่วยงานตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานที่่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ธนาคารให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยการเชิญชวนให้คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย

การดำเนินงานที่สำคัญ

การคัดเลือกคู่ค้า

ธนาคารเคารพสิทธิและปฏิบัติต่อคู่ค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยมีแนวทางการคัดกรองคู่ค้าที่เป็นระบบครอบคลุมการประเมินด้านความสามารถในการผลิตสินค้าและให้บริการ คุณภาพของสินค้าและบริการ ความมั่นคงน่าเชื่อถือของคู่ค้า ตลอดจนการดำเนินการด้าน ESG ของคู่ค้า คู่ค้าทุกรายต้องทำการประเมินตนเองด้าน ESG ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการและมาตรฐานสากล การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงานตามอนุสัญญาหลักด้านสิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับโดยมิชอบด้วยกฎหมายความรับผิดชอบต่อชุมชน การป้องกันและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การรับเรื่องร้องเรียน เป็นต้น คู่ค้าต้องผ่านเกณฑ์ประเมินตามที่ธนาคารกำหนดไว้ก่อน จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนคู่ค้าและทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับธนาคารต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าทุกรายสามารถผลิตสินค้าหรือให้บริการที่มีคุณภาพตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด มีความน่าเชื่อถือ และมีนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร ในส่วนของผู้ให้บริการภายนอก คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้บริการจากคนภายนอกจะเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ให้บริการภายนอกของธนาคาร

การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในห่วงโซ่อุปทาน

ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ในห่วงโซ่อุปทานของธนาคาร นอกจากการประเมินตนเองของคู่ค้าแล้ว ธนาคารยังมีการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้าเป็นประจำ โดยเน้นคู่ค้าที่มีความสำคัญสูงต่อธนาคาร ได้แก่ คู่ค้าที่ธนาคารซื้อสินค้าและบริการเป็นมูลค่าสูง คู่ค้าที่ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของธนาคาร และคู่ค้าที่ผลิตสินค้าและบริการซึ่งไม่สามารถหาจากแหล่งอื่นมาใช้ทดแทนได้ ธนาคารได้ระบุประเด็นความเสี่ยงที่มาความสำคัญ โดยพิจารณาจากโอกาสที่จะเกิดและความรุนแรงของผลกระทบ ดังนี้

  • ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม: 1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2. การจัดการด้านพลังงาน และ 3. การจัดการของเสียและวัตถุอันตราย
  • ความเสี่ยงด้านสังคม: 1. สิทธิมนุษยชน 2. การปฏิบัติต่อพนักงาน และ 3. อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
  • ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล: 1. การคอร์รัปชัน 2. การปกป้องความเป็นส่วนบุคคล และ 3. การทุจริต


ในกรณีที่พบว่าความเสี่ยงอยู่สูงกว่าระดับที่ธนาคารยอมรับได้ธนาคารจะปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นหรือกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงและผลกระทบเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร ในปี 2565 ความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้ายังอยู่ในระดับที่ธนาคารยอมรับได้ และการคัดเลือกคู่ค้าอย่างรอบคอบระมัดระวัง ทำให้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจากคู่ค้าไม่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานและผลประกอบการของธนาคาร

การติดตามการดำเนินงานของคู่ค้า


ธนาคารมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างคู่ค้า ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของคู่ค้า เช่น คุณภาพสินค้าหรือบริการ ความน่าเชื่อถือการดำเนินงานด้าน ESG (ผ่านการประเมินตนเองของคู่ค้า) ตลอดจนติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร ธนาคารนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนทะเบียนคู่ค้าในรอบปีถัดไปหรือเมื่อครบสัญญาจ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าสามารถดำเนินงานตามสัญญาจ้างได้อย่างราบรื่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับจรรยาบรรณคู่ค้าของธนาคาร

การจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ธนาคารส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดหาและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงช่วยลดปัญหาโลกร้อน ด้วยความมุ่งหวังว่าการจัดซื้อดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในปัจจุบันธนาคารได้จัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายรายการเช่น กระดาษถ่ายเอกสารที่ใช้เยื่อกระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แบบฟอร์มที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล ผงหมึกพิมพ์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล เครื่องแบบพนักงานที่ได้รับฉลากคูลโหมด เครื่องดับเพลิงแบบละอองน้ำชนิดปลอดสาร CFC ของที่ระลึกที่ผลิตโดยกระบวนการอัพไซเคิล สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ และวัสดุอุปกรณ์สำนักงานที่ได้รับมาตรฐานการออกแบบเพื่อความเป็นผู้นําทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ