พ.ร.บ. ศุลกากรฉบับใหม่ มีอะไรบ้างที่ต้องรู้


เป็นเวลากว่า 90 ปี ที่ประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติศุลกากรปี พ.ศ.2469 สำหรับกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีข้อท้วงติงจากผู้ประกอบการ ในบางประการ กรมศุลกากรจึงได้มีการแก้ไขให้มีความทันสมัยและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยพ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 นี้ คุณกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ไว้ดังนี้


  • การประเมิน เดิมกรมศุลกากรไม่มีการกำหนดระยะเวลา โดยให้ทำการประเมินภายในอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำเข้าสินค้าหรือวันที่ส่งออกสินค้า ดังนั้นใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 จึงได้มีการระบุชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการประเมินภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งข้อดีคือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

  • การตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย เจ้าหน้าที่สามารถทำการตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เก็บเอกสาร 5 ปี

  • โทษและการกระทำความผิด เดิมกฎหมายจะลงโทษเท่ากันแม้จะเป็นโทษหนักหรือเบาก็ตาม โดยจะลงโทษด้วยการปรับ 4 เท่า ของราคาสินค้ารวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งปัจจุบันได้มีการแก้ไขเป็นปรับตั้งแต่ 0.5 เท่าแต่ไม่เกิน 4 เท่าของอากรที่ขาดโดยไม่คำนวณรวมราคาสินค้า และการลงโทษหนักหรือเบานั้นให้เป็นไปตามดุลพินิจของศาล

  • ชนิดคลังสินค้าทัณฑ์บน ได้ระบุใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ให้อธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้กำหนดโดยการประกาศเป็นกฎกระทรวง ซึ่งทำให้เกิดความยืดหยุ่นของชนิดคลังที่สามารถเพิ่มได้ตามความเหมาะสม

  • สินบนรางวัล เดิมประกอบไปด้วย สินบน และ เงินรางวัล โดยสินบนจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าขายของกลางหรือค่าปรับ ซึ่งจ่ายทุกฐานความผิดและไม่มีเพดาน ส่วนเงินรางวัลจ่าย 25 เปอร์เซ็นต์ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุม แต่กรณีไม่มีสินบนจะจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์แก่เจ้าหน้าที่ที่จับกุมไม่มีเพดานและจ่ายทุกฐานความผิด โดยปัจจุบันกำหนดให้จ่ายสินบน 20 เปอร์เซ็นต์ และเงินรางวัล 20 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท จ่ายในฐานความผิดเฉพาะเท่านั้น

  • ภาระการพิสูจน์ เดิมอยู่ที่จำเลยที่ต้องเป็นบุคคลพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันตัดมาตรา 100 ออก ทำให้ภาระการพิสูจน์จะเป็นของบุคคลใดขึ้นอยู่กับหลักกฎหมายทั่วไป 

  • ตัวแทนออกของ ปัจจุบันได้กำหนดให้มีคุณสมบัติเหมาะสมมากขึ้น และมีการกำหนดโทษตัวแทนออกของหากมีการกระทำความผิด 

  • การสงวนสิทธิ์เมื่อมีการชำระอากรไว้เกิน เดิมผู้ประกอบการชำระอากรไว้เกินต้องขอสงวนสิทธิ์กับทางกรมศุลกากรเพื่อขอคืนเงิน ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องสงวนสิทธิ์เพราะหากมีการชำระเกินก็สมควรที่จะได้รับอากรคืน

  • ระบบการขอคำวินิจฉัยล่วงหน้าจากศุลกากร ปัจจุบันผู้ประกอบการจะต้องขอคำวินิจฉัยล่วงหน้า ซึ่งจะใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร และมีผล 2 ปี นับจากการให้คำวินิจฉัย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับทราบอัตราภาษีได้อย่างถูกต้องล่วงหน้า

  • คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เดิมเอกชนไม่สามารถฟ้องศาลได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ศาลจะไม่รับฟ้องโดยระบุว่าผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายภายในก่อนจึงจะสามารถใช้สิทธิ์ทางศาลได้ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นผู้ตัดสินประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีในกรณีที่ความเห็นระหว่างศุลกากรกับผู้ประกอบการไม่ตรงกัน โดยจะมีกี่คณะก็ได้ตามที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เพื่อการกระจายการทำงานไม่ให้งานคั่งค้างสะสม และกำหนดเวลาแล้วเสร็จชัดเจนในระยะเวลา 180 วัน ขยายได้อีก 90 วัน และหากเอกชนไม่เห็นด้วยในระยะเวลา 180 วันก็สามารถดำเนินการฟ้องศาลได้

  • เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ เดิมกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1 ซึ่งเงินดอกเบี้ยนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีเพดาน และงดหรือลดไม่ได้ โดยปัจจุบันยังคงไว้ที่ร้อยละ 1 แต่สามารถลดได้และมีเพดานไม่เกินเงินต้น ส่วนเบี้ยปรับที่ชำระหนี้ล่าช้า 20 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ที่จะต้องเสียสามารถงดหรือลดได้

  • ของที่เป็นของพึงริบ ได้กำหนดให้เป็นไปตามดุลพินิจของศาล 

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ