สร้างวิสาหกิจครอบครัวให้ยั่งยืนสไตล์สวิส: ความลับของการรักษาธุรกิจครอบครัวให้ยาวนาน คือการค้นหาทางสายกลาง

ปัจจุบัน มีวิสาหกิจครอบครัวมากมายทั่วโลกที่ไม่เพียงจะอยู่รอดหากแต่มีเสถียรภาพที่ดีมาจนถึงทุกวันนี้ ลักษณะการประกอบการในแต่ละประเทศนั้น มีความน่าสนใจแตกต่างกันไป ซึ่งอาจนำมาปรับใช้เป็นบทเรียนสำหรับผู้ประกอบการในประเทศอื่นๆ ได้ ในสวิสเซอร์แลนด์ นักวิจัยภายใต้โครงการ STEP (Successful Transgenerational Entrepreneurship Practices) ซึ่งดำเนินการโดย Babson College แห่งสหรัฐอเมริก ได้ทำการวิจัยในระดับนานาชาติและพบว่าวิสาหกิจครอบครัวที่สามารถสานต่อกิจการให้ยาวนานได้ ล้วนยึดมั่นใน หลักการเดินสายกลาง 


การค้นพบนี้เกิดขึ้นจากการศึกษา คุณลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Orientation: EO) ใน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ “อำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง” “ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม” “ความสามารถในการเผชิญกับความเสี่ยง” “การทำงานในเชิงรุก” และ “ความสามารถในการรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรง” บริษัทที่มี EO สูงมักจะมีทักษะในการการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสูง กล้าเสี่ยง ยึดมั่นในอนาคต และทำธุรกิจในเชิงรุก

ทีมวิจัยได้สำรวจธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ของสวิสเซอร์แลนด์ ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัทยาอายุ 140 ปี ซึ่งบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 5 บริษัทผลิตช็อกโกแลตอายุ 80 ปี บริหารโดยทายาทรุ่นที่ 3 และบริษัทสิ่งพิมพ์อายุ 175 ปี บริหารโดยทายาทรุ่นที่ 7

การประเมินคะแนน EO ของทั้ง 3 บริษัท มีผลออกมาใกล้เคียงกันในระดับกลางๆ คือไม่สูงมาก โดยเฉพาะคะแนน ด้านนวัตกรรม ทั้ง 3 องค์กรอยู่ในระดับกลางเหมือนกันหมด การรับความเสี่ยงทางธุรกิจ อยู่ในระดับกลางถึงต่ำ เช่นเดียวกับ ความสามารถในด้านการทำงานเชิงรุก ผลการวิจัยยังพบอีกว่าคะแนน EO ของบริษัทเหล่านี้ยังเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าเมื่อเกิดช่วงเวลาที่มีคะแนนด้านนวัตกรรมต่ำ จะตามมาด้วยช่วงที่มีคะแนนพุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาถัดมาเสมอ

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อเปรียบเทียบบริษัทเก่าแก่และประสบความสำเร็จของสวิสทั้ง 3 แห่งนี้ กับบริษัทในยุค “ดอทคอม” ของอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 90 ซึ่งพบว่ามีคะแนน EO ในระดับสูงทั้งในด้านนวัตกรรม ความกล้าได้กล้าเสีย ความสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง และมีความสามารถในการเผชิญกับความเสี่ยงสูง แต่ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอยู่รอดได้นานเกินกว่า 2-3 ปี

กิจการที่มี EO สูงเกินไป อาจนำไปสู่ตัดสินใจผิดพลาด เช่นในกรณีของ “บริษัทดอทคอม” ที่อยู่ได้ไม่นานนัก ในทางกลับกัน คะแนน EO ที่ต่ำเกินไป อาจนำไปสู่ความเฉื่อยชาหรือหยุดชะงักขององค์กร นำไปสู่ความเสื่อมถอยในระยะยาวได้เช่นกัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาในสวิสเซอร์แลนด์ครั้งนี้คือสัญญาณที่ชัดเจนว่า หากวิสาหกิจครอบครัวต้องการที่จะรักษาธุรกิจให้อยู่ได้อย่างยืนยาว เคล็ดลับจะอยู่ที่การเลือกทางสายกลาง คือ รักษาให้องค์ประกอบต่างๆ ของ EO ของครอบครัวให้อยู่ในระดับกลางๆ แต่สร้างธุรกิจให้เป็นองค์กรที่มีพลวัตร สามารถปรับตัวให้ทันกับเหตุปัจจัยภายในและภายนอกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม นั่นเอง

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ