เตรียมความพร้อมก่อนสมัครสินเชื่อบ้าน


เชื่อว่าหลายคน “อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง” และหลายๆ คนคงกำลังเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อบ้าน ลองมาสำรวจความพร้อมของตนเองสักนิดก่อนที่จะยื่นขอสินเชื่อ เพราะทุกคนคงไม่อยากนั่งเสียเวลา และยิ่งเสียดาย หากเหตุผลการไม่อนุมัติมาจากการที่เราขาดความพร้อมในการยื่นขอสินเชื่อ

เตรียมข้อมูลให้พร้อม “ทุกด้าน และเป็นจริง”

ข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ประกอบการพิจารณา แน่นอนว่าเริ่มต้นจากข้อมูลส่วนตัวของผู้ขอสินเชื่อ ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เพศ สถานภาพสมรส อาชีพ รายได้ ภาระหนี้ แหล่งที่อยู่อาศัย วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ข้อมูลเครดิต หรือประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ผ่านมา ตรงนี้สำคัญมาก เพราะประวัติการขอสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ เป็นสิ่งที่สะท้อนความมีวินัยทางการเงินได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม “คุณต้องกรอกข้อมูลและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน และอย่าลืมว่าทุกข้อมูลที่คุณกรอกต้องเป็นจริง”

เตรียมรับการพิจารณาสินเชื่อ

หลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินกู้ ธนาคารจะพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการกู้ตามลักษณะที่อยู่อาศัย และความสามารถในการผ่อนชำระคืน โดยพิจารณาจากอาชีพ รายได้ และจากมูลค่าหลักประกัน เช่น

  • ลักษณะที่อยู่อาศัย กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้แก่บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม หรือเพื่อปลูกสร้าง หรือ Refinance ที่อยู่อาศัย
  • คุณสมบัติผู้กู้ เป็นบุคคลธรรมดามีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป มีรายได้ประจำ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต้องแสดงหลักฐานรายได้ที่ชัดเจน โดยควรมีหลักฐานรายได้ย้อนหลังไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • ไม่มีประวัติเสียหายด้านการเงิน
  • วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 70-100 ของมูลค่าหลักประกัน หรือเท่ากับหนี้ส่วนที่เหลือหากเป็นกรณีทำรีไฟแนนซ์ โดยมีอัตราส่วนวงเงินกู้สูงสุดต่อมูลค่าหลักประกันตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 30 ปี (เฉพาะพนักงานประจำ สูงสุด 35 ปี) ทั้งนี้ อายุของผู้กู้รวมระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 65 ปี

หากคุณได้รับอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารจะติดต่อและแจ้งผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้คุณทราบภายใน 3-7 วันทำการ นับจากวันที่คุณยื่นใบคำขอสินเชื่อ และเอกสารประกอบครบถ้วน พร้อมนัดหมายในการทำนิติกรรมสัญญาและดำเนินการจดจำนอง ณ กรมที่ดินในเขตท้องที่ที่โฉนดที่ดิน หรือหลักประกันจดทะเบียนไว้ กรณีมีผู้กู้ร่วม หรือผู้ค้ำประกัน คุณจะต้องนัดหมายให้บุคคลเหล่านั้นมาร่วมลงนามในสัญญาทุกฉบับ ซึ่งธนาคารจะแจ้งค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้คุณได้เตรียมมาพร้อมกันในวันทำสัญญาการ

เตรียมหลักประกัน

ในขั้นตอนของการพิจารณาสินเชื่อ ธนาคารจะดำเนินการสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน โดยดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการพิจารณาสินเชื่อ โดยมีหลักเกณฑ์ในการประเมินราคาขึ้นอยู่กับราคาประเมินกรมที่ดิน ราคาตลาด ราคาซื้อง่ายขายคล่อง

เตรียมเงินค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เงินมัดจำที่จะชำระในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย เงินดาวน์ ค่านายหน้า ค่าใช้จ่ายในการขนย้าย ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทนายความต้องชำระเพื่อดำเนินการแทน (เช่น ค่าธรรมเนียมในการขอตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานจากสำนักงานที่ดิน หรือกระทรวงพาณิชย์ ค่าจดทะเบียน ค่าถ่ายเอกสาร เป็นต้น) แล้วนั้น ผู้ซื้อบ้านจะมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อ สำหรับธนาคาร เช่น ค่าธรรมเนียมประเมินทรัพย์ (ประมาณ 3,000 บาท/แปลง ไม่รวม VAT) ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินสินเชื่อ (ซึ่งอาจเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ข้อตกลง) รวมถึงค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ 2% ของราคาประเมิน และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1% ของวงเงินสินเชื่อรวมถึงค่าธรรมเนียม และเบี้ยประกันภัย ทั้งเบี้ยประกันอัคคีภัย เบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองเครดิต ซึ่งผู้ซื้อบ้านสามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้จากธนาคาร (บริษัทประกันจะรับภาระสินเชื่อแทนในกรณีผู้ซื้อเสียชีวิตหรือทุพลภาพ)

การจะมีบ้านสักหลัง หรือคอนโดสักห้องเป็นของตนเอง จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงคุณเตรียมความพร้อมก่อนสมัครสินเชื่อเพื่อเปลี่ยนบ้านในฝัน ให้เป็นบ้านในชีวิตจริงได้อย่างลงตัว

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ