ไลฟ์สไตล์ของคนวัยทำงานในย่านใจกลางเมืองที่เราเห็นจนคุ้นตา และทำจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มกาแฟ นัดเพื่อนช้อปปิ้ง มีปาร์ตี้หลังเลิกงาน เข้าฟิตเนสเพื่อออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง ฯลฯ หลายคนทำสิ่งเหล่านี้จนกลายเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่บางคนยึดเป็นมาตรฐานที่มนุษย์เงินเดือนควรมี จนคิดว่าถ้าคนอื่นไม่ทำตามก็อาจจะถูกมองว่าแปลกแยก

ถ้าเรามีกิจวัตรแบบนี้ แสดงว่าเราใช้จ่ายด้วยความเคยชินกันประมาณเท่าไหร่ ลองคำนวณกันดูง่ายๆ เช่น รายจ่ายค่ากาแฟ ถ้าในวันทำงานเราดื่มกาแฟเฉลี่ยวันละ 1 แก้ว แล้วดื่มกาแฟแก้วละ 50 บาท ระยะเวลาทำงาน 1 เดือน (คิดเป็นเลขกลมๆ 20 วันทำการ) จะเป็นเงินที่จ่ายกับค่ากาแฟ 50 x 20 = 1,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 5% ของรายได้ ([1,000/20,000] x 100) ในกรณีที่เราเงินเดือน 20,000 บาท แต่ถ้าเงินเดือนเท่ากันแล้วดื่มกาแฟราคาแพงขึ้นเป็นแก้วละ 150 บาท จะเป็นเงินที่ใช้ดื่มกาแฟ 3,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 15% ของรายได้ ซึ่งเป็นสัดส่วนรายจ่ายที่ไม่น้อยเลยทีเดียว



นอกจากค่ากาแฟแล้ว เราก็ยังมีรายจ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าช้อปปิ้ง อาจจะสัปดาห์ละ 1,000-2,000 บาท ค่าปาร์ตี้ สัปดาห์ละประมาณ 1,000 บาท ค่าฟิตเนสเดือนละ 2,500 บาท หรือปีละ 30,000 บาท เป็นต้น

เราทำสิ่งเหล่านี้จนเคยชินเพราะเห็นคนรอบข้างทำกันจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เสื้อผ้าสำเร็จรูปยังมีหลายขนาดให้เลือกใส่ ถ้าเราตัวเล็กแต่ใส่เสื้อผ้า XXL ก็อาจจะหลวมมาก การบริหารการเงินก็เช่นกัน ที่เราควรเลือกรูปแบบการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับขนาดเงินในกระเป๋าของเรา เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องประหยัดเกินไปจนอึดอัด หรือใช้จ่ายมากเกินไปจนกระเป๋าแห้ง ซึ่งบทความนี้จะแนะนำวิธีปรับสมดุลระหว่างไลฟ์สไตล์กับเงินให้สอดคล้องกัน ฉบับที่ใครๆ ก็ทำได้

แนวคิดที่ 1 การปรับไลฟ์สไตล์เข้าหาเงิน

ถ้าเราตัวเล็กก็เลือกเสื้อผ้าไซส์ S หรือถ้าอ้วนมากก็เลือกใส่ไซส์ XXL เพื่อให้พอดีกับรูปร่างตนเองเหมือนกับ ไลฟ์สไตล์ของเราที่ต้องปรับเปลี่ยน ให้พอดีกับรายได้หรือน้อยกว่ารายได้ เพื่อจะได้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น จากตัวอย่างไลฟ์สไตล์ข้างต้น เราสามารถมีเงินเหลือง่ายๆ เช่น

  • ปรับการดื่มกาแฟแก้วละ 150 บาท เป็นกาแฟแก้วละ 50 บาท หรือกาแฟฟรีที่ทำงานแทน
  • เข้มงวดกับการใช้จ่ายโดยตั้งงบช้อปปิ้งให้แน่นอน ถ้าเดือนนี้ไม่ซื้อ เงินจำนวนนี้จะได้เก็บเป็นเงินออมหรือ ทบไปใช้เดือนหน้า
  • ลดการปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนให้เหลือซักเดือนละ 1-2 ครั้ง แทนที่จะนัดกันทุกสัปดาห์
  • เลือกดูหนังในวันที่มีโปรโมชั่นตั๋วราคาถูก หรือได้รับสิทธิ์ส่วนลดพิเศษจากบัตรเครดิต
  • ประหยัดค่าสมาชิกฟิตเนสเดือนละ 2,500 บาท เป็นค่าเดินทางเดือนละไม่กี่ร้อยบาท ไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะแทน

ถ้าขนาดกระเป๋าเงินของเราเริ่มมีขนาดเล็กลง สิ่งหนึ่งที่เราควรนึกถึง คือ การประหยัด เราควรปรับวิธีการใช้จ่ายเงินให้ลดลงเหมาะสมกับขนาดของเงินในกระเป๋า โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองใหม่ แม้ว่าช่วงแรกๆ จะอึดอัดบ้างเพราะเราอาจจะเคยชินกับความสะดวกสบาย แต่สุดท้ายถ้าเราตั้งใจและอดทน เราจะได้ผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจกลับมาเป็นผู้ที่ใช้เงินเป็น



แนวคิดที่ 2 การปรับเงินเข้าหาไลฟ์สไตล์

ถ้าเรายังติดกับไลฟ์สไตล์แบบเดิมๆ ต้องการจับจ่ายใช้สอยอู้ฟู่มากขึ้น หรืออยากมีไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น เราคงต้องปรับเงินในกระเป๋าให้มากขึ้นตาม หรือสร้างรายได้ให้มากขึ้นนั่นเอง ด้วยหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้ เช่น ฝึกทักษะพัฒนาตนเอง หรือหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อสร้างโอกาสงาน/เสริมรายได้ หารายได้พิเศษตามความถนัด ขายของมือสอง งานอดิเรกหรือของสะสมก็ทำเงินได้ เป็นต้น

ทั้ง “การประหยัดรายจ่าย” ซึ่งเป็นการปรับไลฟ์สไตล์เข้าหาเงิน หรือ “การสร้างรายได้” คือการปรับเงินเข้าหาไลฟ์สไตล์ เป็น 2 แนวคิดง่ายๆ ที่แต่ละคนต้องลองไปปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และไม่ว่าแต่ละคนจะเลือกปรับแบบไหน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่ากันเลยก็คือ การสร้างนิสัยและวินัยในการใช้เงินที่ดี ซึ่งเป็นวิธีการปรับชีวิตที่ยั่งยืน สมดุลและสามารถสร้างความสุขได้ง่ายๆ เพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคง



เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณ
ในทุกธุรกรรมทางการเงิน

เครื่องมือช่วยเหลือ

ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณในทุกธุรกรรมทางการเงิน

คุณกำลังจะออกจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ